
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๖ หลังจากที่พระเจ้าตากสินกู้ชาติบ้านเมืองมาได้หลังจากเสียกรุงศรี-อยุธยาครั้งที่ ๒ ได้ ๖๐ ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีชื่อหมู่บ้านโดยมีท้าวแสนเทพเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ซึ่งตอนนั้นหมู่บ้านนี้ขึ้นโดยตรงกับอำเภอแม่ทะ ที่ทำการอำเภอตั้งอยู่ป่าตัน (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านป่าตัน เขตอำเภอแม่ทะ) มีพระยาศรีเป็นเจ้าแคว้น กำนันที่ทำการอยู่ที่บ้านป่าจ้ำ ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก การไปมาหาสู่ติดต่อกันทางการค้าขายยังต้องอาศัยการเดินเท้า โดยมีถนนหลัก ๆ ให้เดินได้เพราะเป็นป่ารก ส่วนมากจะทำการค้าขายโดยอาศัยลำห้วยแม่จาง เพราะเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ และสามารถล่องแพซุงในฤดูน้ำหลากจากอำเภอแม่ทะล่องมาถึงหมู่บ้านนี้ได้อย่างสบาย เพราะน้ำไหลผ่านหมู่บ้าน ต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๓๒๐ วันเดือนไม่ปรากฏแน่ชัด ได้มีชาวบ้านหลุกได้นำมะพร้าว (บ่าป้าว) บรรทุกใส่แพไม้ซาง เพื่อนำมาขายและแลกเปลี่ยนสินค้าทางลำน้ำนี้ มีทิดสึกใหม่ (หนานสึกใหม่) เป็นหัวหน้าบริวารบรรทุกมะพร้าวล่องแพมาจนถึงแก่งปูแสนสมปาน (วังส้มป่อยปัจจุบัน) แพมะพร้าวของทิดสึกใหม่พร้อมด้วยคณะเกิดล่มแตกกระจาย เพราะสายน้ำตรงนี้เป็นแอ่งลึก สายน้ำไหลเชี่ยวมาก ทำให้ผู้คนที่มากับขบวนตายเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ พวกบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ บ้านกูดเก้า (ต้นมะกรูด) ต่างก็ไปดูแลช่วยเหลือนำศพขึ้นไว้บนฝั่งแม่จาง เมื่อความนี้รู้ไปถึงท้าวแสนเทพซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้รายงานให้ พระยาศรีกำนันรับทราบ พระยาศรีก็ได้รายงานให้เจ้าวังซ้ายซึ่งเป็นตัวแทนทางราชการมาตรวจเยี่ยมชันสูตรศพ
เนื่องจากมีคนเกิดอุบัติเหตุ แพบรรทุกมะพร้าวแตกครั้งนี้ เจ้าวังซ้ายได้ถามถึงสารทุกข์กับราษฎรที่ไปช่วยเหลือและสอบถามราษฎรว่าหมู่บ้านนี้ชื่อว่าอะไร พวกชาวบ้านต่างก็ตอบกันไปว่า บ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ ไม่แน่นอน แต่อยู่ในเขตปกครองเดียวกัน เจ้าวังซ้ายจึงได้ประชุมชี้แจงกับชาวบ้านว่าต่อไปนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หนานสึกใหม่ที่เอาแพมะพร้าวมาล่มวังนี้ เลยขนานนามหมู่บ้านนี้ใหม่ว่า ”บ้านวังพร้าว” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันใช้ชื่อ วังพร้าว เป็นชื่อตำบล
|